วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการออกแบบ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ชื่อหัวข้อ : การออกแบบนิยายภาพ เรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ



โครงร่างการวิจัยเพื่อการออกแบบนิเทศศิลป์
วิชาการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการออกแบบ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ชื่อหัวข้อ : การออกแบบนิยายภาพ เรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ

ข้อมูลผู้วิจัย
ชื่อ : นาย ไววิทย์  บุญพัฒน์  นิสิตชั้นปีที่ : 3
สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 

1.1  ที่มาและความสำคัญของปัญหา
          นวนิยาย เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง เช่นเดียวกับศิลปะอื่นๆที่มีคุณค่า พัฒนาความคิด จินตนาการ และจิตใจของมนุษย์ แต่ทว่าในการเข้าถึงศิลปะแขนงนี้ไม่เหมือนดังเช่นทัศนศิลป์ที่ใช้การมองเห็น หรือดุรางค์ศิลป์ที่ใช้การฟัง นวนิยายจะต้องใช้การอ่านในการเข้าถึง ผู้อ่านนอกจากจะต้องเป็นผู้ที่อ่านหนังสือได้แล้ว จะต้องเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการอ่านระดับหนึ่งด้วย ซึ่งนั่นต้องอาศัยการศึกษา และการฝึกฝน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ การเข้าถึงจึงอยู่ในกลุ่มคนที่จำกัด ในขณะเดียวกัน ทัศนศิลป์ หรือศิลปะที่มองเห็นได้ สามารถเข้าถึงบุคคลเท่าไปได้ง่ายกว่า สื่อสารข้อมูลได้รวบรัดกว่า จึงมีการใช้ภาพประกอบ(Ilustration) ร่วมกับเนื้อเรื่องนวนิยาย แต่ภาพประกอบยังคงเป็นแค่เครื่องมือประกอบเนื้อเรื่อง เป็นเพียงจุดพักสายตา หรือเพื่อจุดภาพจินตนาการของผู้อ่านเท่านั้น ยังไม่ใช่การรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของภาพและตัวอักษร
รวมเรื่องสั้น เจ้าหงิญ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 26

เรื่องสั้นเรื่อง สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ ภาพประกอบโดย ชัยพร  พานิชรุทติวงศ์
          รวมเรื่องสั้น เจ้าหงิญ ของบินหลา สันกาลาคีรี เป็นเรื่องสั้นรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปี 2548 ผู้เขียนใช้การเล่าเรื่องแบบนิทานที่หยิบเอาประเด็นทางสังคมในปัจจุบันใช้การเล่าเรื่องแบบนิทานได้อย่างน่าสนใจ หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 8 เรื่อง ได้แก่ ชายเดียวดายแห่งภูเขาภาคเหนือ, แดฟโฟดิลแดนไกล, เจ้าหญิงเสียงเศร้าแห่งดาวดวงที่สี่, เก้าอี้ดนตรี, สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ, นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่, ลูกหาม กับสามสหาย, และ โลก ของเจ้าหญิงนกบินหลายกับเจ้าชายนกบินหา
          เรื่องที่น่าสนใจที่สุดเรื่องหนึ่งคือเรื่อง สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ ซึ่งมีตัวละครคือเจ้าหญิงที่เอาแต่ใจ ซึ่งอาจเป็นที่มาของรวมเรื่องสั้นชุดนี้ แทนที่จะมีชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบดังเช่นเจ้าหญิงในเทพนิยายอื่นๆ เจ้าหญิงในเรื่องนี้กลับอยู่ในสถานะครอบครัวแตกแยก พระราชาและพระราชินีหย่าร้างกัน เจ้าหญิงจึงต้องประทับที่วังพระราชาครึ่งวัน ส่วนอีกครึ่งวันประทับที่วังพระราชินี ทั้งพระราชาและพระราชินีต่างพยายามเอาใจลูกทุกวิถีทางเพราะมีโอกาสได้อยุ่กับลูกเพียงแค่ครึ่งวัน ต่าง
พยายามทำให้เจ้าหญิงประทับที่วังตัวเองนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เจ้าหญิงจึงเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ อยากได้สิ่งใดจะต้องได้สิ่งนั้น ซึ่งไม่เหนือบ่ากว่าแรงของพระราชาและพระราชินีที่จะสรรหาทุกสิ่งทุกอย่างมาให้ลูกน้อย จนกระทั่งเจ้าหญิงมีประสงค์อยากได้รุ้งกินน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนืออำนาจของทั้งพระราชาและพระราชินี ความอลหม่านในวังจึงเกิดขึ้น
รวมเรื่องสั้น เจ้าหงิญ ของบินหลา สันกาลาคีรี นำโลกของจินตนาการมาผสานกับโลกของความเป็นจริงโดยใช้รูปแบบนิทานเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ประสบการณ์ทางอารมณ์ การเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค การแสวงหาความหมายและความสุขของชีวิต แต่ด้วยความเขลา มนุษย์จึงต้องดิ้นรนและหลงอยู่ในมายา ในที่สุด ผู้อ่านจะรับรู้ได้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น โลกมีหลายทางเลือกที่จะไปสู่ชีวิตที่เรียบง่ายและพอดี
(คำประกาศของคณะกรรมการการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปีพุทธศักราช 2548)
         เรื่องสั้นชุดนี้นอกจากจะได้ข้อคิดหลัก นั่นคือโลกมายาที่สวยงามอย่างในนิทานมิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ในโลกแห่งความจริง แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคลที่จะมองแล้ว ยังจะได้ข้อคิดย่อยๆที่ได้จากเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ซึ่งผู้เขียนได้ผูกเนื้อเรื่องเหล่านี้ให้อยู่ในรูปแบบของนิทานได้อย่างมีชั้นเชิง หากอ่านรวมเรื่องสั้นทั้งชุด จะก่อให้เกิดคำถามในใจผู้อ่าน ซึ่งนี่เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของงานศิลปะที่มีคุณค่าในการจรรโลงจิตใจมนุษย์
“เจ้าหญิง” ที่เพียบพร้อมเช่นนั้นหาไม่ได้ในชีวิตจริง คงมีแต่ในโลกนิทานหรือในจินตนาการเท่านั้น เพราะในชีวิตจริง เราต้องเผชิญหน้ากับสังคมที่เปลี่ยนไป ปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ปัญหาศีลธรรมเสื่อมโทรม และอีกมากมายหลายปัญหารุมเร้าเข้ามาจนทำให้ “เจ้าหญิง” องค์น้อยๆ ต้องกลายเป็น “เจ้าหงิญ” ไป
(อิงอร สุพันธุ์วณิช, 2548: 193)
            ด้วยสถิติการอ่านหนังสือที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำของคนไทยในปัจจุบัน จะด้วยโครงสร้างการศึกษา หรือนิสัยของคนไทยที่ไม่เคยได้รับการปลูกฝังด้านการอ่านอย่างเพียงพอ ทำให้มีคนจำนวนน้อยที่จะเข้าถึงเรื่องสั้นชุดนี้ หรือแม้แต่วรรณกรรมเรื่องอื่นๆ การแก้ปัญหาคือการทำให้ผู้อ่านจำนวนนี้เพลิดเพลินไปกับข้อมูลตัวอักษรให้ได้ ด้วยการออกแบบให้อยู่ในรูปแบบ “นิยายภาพ” หรือที่เรียกกันว่า “การ์ตูนคอมิคส์”(Comics) “หนังสือการ์ตูน คือหนังสือที่มีภาพและคำพูดประกอบ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ตามเนื้อเรื่องที่เขียนขึ้น มีทั้งที่อ้างอิงจากความจริง และเกิดจากความคิดของนักวาดการ์ตูน หรือนักแต่งการ์ตูน เป็นผู้วางเอาไว้ สำหรับการ์ตูนญี่ปุ่นอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มังงะ”(วิกิพีเดีย,ค้นหาเมื่อ 16 ธ.ค. 2555) ด้วยการทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้ผู้ที่จะเข้าถึงวรรณกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นแล้ว การได้เห็นเนื้อเรื่องในรูปแบบการ์ตูนอาจทำให้ผู้อ่านกลุ่มดังกล่าวอยากที่จะอ่านต้นฉบับที่อยู่ในรูปแบบนิยายเรื่องสั้น อันจะเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านในประเทศไทย

1.2  วัตถุประสงค์
         1.2.1   เพื่อศึกษาวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ
         1.2.2   เพื่อศึกษาวิธีการออกแบบนิยายภาพ
         1.2.3   เพื่อออกแบบนิยายภาพเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ

1.3  ขอบเขตการศึกษา
       ศึกษาวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ ออกแบบลักษณะตัวละครแต่ละตัว เพื่อที่จะนำมาออกแบบนิยายภาพ ที่สามารถตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-20 ปี ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือที่มีตัวอักษรเป็นหลัก ในรูปแบบนิยายภาพ

1.4  วิธีการดำเนินงาน
        1.4.1  เพื่อตอบวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ประเด็นการศึกษาวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ
                  (1)  อ่านรวมเรื่องสั้น เรื่อง เจ้าหงิญ เพื่อให้ทราบถึงเนื้อเรื่อง
                  (2)  รวบรวมบทวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องดังกล่าว เพื่อใช้ในการตีความหมายของเรื่อง
                  (3)  สรุป สังเคราะห์ วิเคราะห์ให้เห็นถึงความหมายและข้อคิดของวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ
      1.4.2  เพื่อตอบวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 ประเด็นการศึกษาวิธีการออกแบบนิยายภาพ
                  (1)  การศึกษาเอกสาร สื่อออนไลน์ เพื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องการออกแบบนิยายภาพ
                  (2)  การรวบรวมผลงาน นิยายภาพ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบนิยายภาพ
                  (3)  การสรุป สังเคราะห์ วิเคราะห์ให้เห็นถึงวิธีการออกแบบนิยายภาพ
       
        1.4.3  เพื่อตอบวัตถุประสงค์ข้อที่ 3 ประเด็นการออกแบบนิยายภาพเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ
                  (1)  นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิธีการออกแบบนิยายภาพมาใช้ในการออกแบบนิยายภาพเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ
                  (2)  นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ มาใช้ในการออกแบบนิยายภาพเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ
                  (3)  การสรุปผลการศึกษา และทำการออกแบบนิยายภาพเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ

1.5  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
            รวมเรื่องสั้น เรื่อง เจ้าหงิญ เป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคม  ผู้ที่ได้อ่านวรรณกรรมเล่มนี้จะได้รับแง่คิดต่างๆ ก่อเกิดทัศนคติที่กว้างขึ้น ทำให้มีความเข้าใจในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อไป ในการที่จะเผยแพร่เรื่องดังกล่าวให้อยู่ในรูปแบบ นิยายภาพนั้น นอกจากจะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างสะพานให้กลุ่มเหล่านั้นมีความต้องการที่จะอ่าน ต้นฉบับ ที่อยู่ในรูปแบบ เรื่องสั้น เป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านในสังคมไทยได้อีกทาง

1.6  รายชื่อเอกสารอ้างอิง
            1.   บินหลา  สันกาลาคีรี.  เจ้าหงิญ.  พิมพ์ครั้งที่26.  กรุงเทพมหานคร : อันพู, 2554.
            2.   อิงอร  สุพันธุ์วณิช.  ปริทัศน์เรื่องสั้นไทย.  กรุงเทพมหานคร : แอคทีฟ พริ้นท์, 2548.


เกี่ยวกับคำว่า “การ์ตูน”
            ศาสตราจารย์ศิลป์พีระศรี กล่าวถึงคำ “Cartoon” ว่า “เมื่อจิตรกรต้องการวาดภาพขนาดใหญ่ เขาเริ่มต้นด้วยการวาดภาพบนกระดาษเป็นแบบร่างใหเท่าขนาดของจริงแล้วระบายสีเอกรงค์ (Monochrome) ลักษณะของภาพร่างนี้เรียกว่า “Cartoon”  นอกจากนี้ยังเรียกภาพร่างของช่างทำกระจกสีสำหรับประดับตกแต่งตามช่องลม ประตู และหน้าต่างโบสถ์ หรือภาพร่างของช่างถักทอพรมว่าภาพการ์ตูนเช่นกัน
            ส่วนความหมายของคนไทยโดยทั่วไป การ์ตูน คือภาพวาดที่รวมลักษณะดังกล่าวของ Cartoon, Comic, Illustration Tale และ Caricature ไว้ทั้งหมดโดยไม่แยกแยะลักษณะเด่นชัดลงไปเหมือนรากศัพท์เดิม  กล่าวคือภาพเขียนลักษณะใดๆ ก็ตามที่เป็นภาพวาดที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เป็นภาพโย้เย้ หรือภาพเขียนที่เป็นนิยายภาพต่างๆ ทั้งที่เขียนเหมือนจริงและไม่เหมือนจริง คนไทยรวมเรียกเป็นการ์ตุนทั้งสิ้น  และมักจะให้ค่าความรู้สึกเป็นเรื่องของเด็กๆ ซึ่งความจริงเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่โดยตรงในฐานะเป็นผู้สร้างผู้ผลิตอันสามารถนำเสนอเนื้อหาที่เป็นสาระเป็นคุณประโยชน์ต่อผู้อ่าน หรือนำเสนอยาพิษให้แก่ผู้อ่านอันเป็นการมอมเมาสติปัญญาให้เสื่อมทรามลงได้
            ดังนั้นคำว่า “การ์ตูน” (Cartoon) อาจสรุปได้ความว่า หมายถึงภาพวาดในลักษณะง่ายๆ บิดเบี้ยวโย้เย้ในลักษณะไม่เหมือนภาพในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งมีรูปลักษณะที่เลียนแบบธรรมชาติ เรขาคณิต หรือรูปร่างอิสระ ที่ลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสื่อความหมายแทนตัวหนังสือ  เป็นผู้แสดงแทนคำพูดหรือแสดงออกต่างๆ ทั้งเป็นภาพประกอบตกแต่งมุ่งให้เกิดความสวยงาม น่าขัน ล้อเลียน เสียดสีในทางการเมือง สังคม และใช้เป็นสื่อในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ประกอบการเล่าเรื่องในทางบันเทิงคดี และสารคดี

การ์ตูนในฐานะต่างๆ
            ในหนังสือ คู่มือฝึกเขียนการ์ตูนด้วยตนเอง ของ ศักดิ์ชัย เกียรตินาคินทร์ (2538) ได้แบ่งฐานะของการ์ตูนออกไว้ห้าระดับ คือ ในฐานะศิลปะลายเส้น ในฐานะงานวรรณกรรม ในฐานะศิลปะการละคร การ์ตูนและภาพยนต์ และ ภาพยนตร์กับนิยายภาพ  ในที่นี้ผู้ทำโครงการวิจัยขอยกตัวอย่างเฉพาะหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ได้แก่
1.  ในฐานะงานวรรณกรรม (Literature) การ์ตูนเป็นสื่อประเภทหนึ่งในการเล่าเรื่องโดยมีเทคนิคการนำเสนอเรื่องที่มีขั้นตอน ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะสูง  เปรียบได้กับงานวรรณกรรมที่ใช้ขั้นตอนการนำเสนอเรื่องด้วยตัวหนังสือ เพียงแต่การ์ตูนนำเสนอด้วยภาพ  ดังนั้นจึงนับการ์ตูน โดยเฉพาะนิยายภาพเข้าอยู่ในประเภทวรรณกรรม
2.  ในฐานะศิลปะการละคร (Drama) การ์ตูนเป็นพัฒนาการสืบต่อจากศิลปะการละคร เนื่องจากมีบทสนทนาโต้ตอบ มีการดิเนินเรื่อง ตัดต่อ และท่าทางการแสดง เช่นเดียวกับการแสดงละครบนเวที
3.  การ์ตูนและภาพยนตร์ (Cartoon and Picture) นิยายภาพและการ์ตูนที่ได้รับความนิยมสูงมักจะนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์  และในขณะเดียวกันภาพยนตร์การ์ตูนหลายเรื่องถูกนำมาสร้างเป็นหนังสือการ์ตูน  จึงเห็นได้ว่า การ์ตูนและภาพยนตร์มีลักษณะงานที่สอดคล้องกัน  อีกทั้งการทำสคริฟภาพยนตร์ (Script) จำเป็นต้องมีสตอรี บอร์ด (Story Board) ซึ่งเป้นภาพวาดในลักษณะการ์ตูน เพื่อแสดงตำแหน่งมุมกล้อง การจัดแสงเงา การตัดต่อดำเนินเรื่อง ก่อนที่จะลงมือถ่ายทำภาพยนตร์จริง
4.  ภาพยนตร์กับนิยายภาพ (Picture and Illustrated Tale) ภาพยนตร์กับนิยายภาพนับว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมากที่สุด ด้วยว่านิยายภาพมีลักษณะการนำเสนอภาพเหมือนภาพยนตร์  ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง ตำแหน่งของตัวละคร การทำภาพเคลื่อนไหวช้า (Slow-motion) นิยายภาพสามารถถ่ายทอดได้ดีไม่แพ้ภาพยนตร์

เอกสารอ้างอิง
  ศักดิชัย  เกียรตินาคิทร์.  คู่มือฝึกเขียนการ์ตูนด้วยตนเอง. 
              กรุงเทพมหานคร : คอมแพคท์พริ้นท์, 2538.

ผลการทำงาน
            จากวัตถุประสงค์ในตอนต้นจนกระทั่งถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานจริง  ผู้ศึกษาพบว่าจำเป็นต้องมีการบูรณาการความรู้ที่ได้มาเพื่อสามารถทำงานภายในขอบเขตระยะเวลาที่จำกัด และทำงานด้วยตัวผู้ศึกษาเพียงคนเดียว  ทั้งนั้นผู้ศึกษาได้พบว่า การออกแบบนิยายภาพ เป็นงานที่ต้องใช้เวลา สิ้นเปลืองทรัพยาการ และต้องใช้ความอดทนและวินัยอย่างสูง  การทำงานวิจัยชิ้นนี้จึงต้องมีการลดทอนขั้นตอนของงานในระดับมืออาชีพ  เพื่อเรียนรู้หลักการทำงานคร่าวๆเท่านั้น
เพื่อตอบวัตถุประสงค์
         1.2.1   เพื่อศึกษาวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ
       หลังจากที่ผู้ศึกษาได้อ่านวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวแล้ว  สิ่งที่ผู้ศึกษาคำนึงถึงก่อนคือตัวละครเด่นในเรื่อง  ซึ่งพบว่าหลักๆใช้ตัวละครเดินเรื่องเพียงสามตัว  คือ พระราชา พระราชินี และ เจ้าหญิง  โดยตัวละครสองตัวแรก คือ พระราชา และพระราชินีซึ่งแยกกันอยู่ มีแรงจูงใจคือความกลัวที่จะไม่ได้อยู่กับลูกของตน  จึงพยายามเอาอกเอาใจลูกของตนทุกวิถีทาง  ส่วนฝ่ายเจ้าหญิงก็มีความต้องการให้ทั้งหมดอยู่ร่วมกัน  ฝ่ายเจ้าหญิงนี่เองเป็นตัวสะท้อนว่าแท้จริงแล้วทั้งสองคนไม่ได้กลัวแค่เสียลูกเพียงอย่างเดียว...แต่เป็นความกลัวที่จะเสียความรักไป “อีกครั้ง” ดังจะเห็นได้จากฉากที่พระราชารำพึงถึงพระราชินีในฉากที่เจ้าหญิงบอกว่า ไม่ต้องการรุ้งอีกแล้ว(บินหลา  สันกาลาคีรี, 2554 : 67) ว่า “อือ สวยเหมือนกันนะลูก พ่อยังจำได้เลย ตอนที่ได้พบกับแม่ของลูกครั้งแรก พ่อก้าวลงจากม้าขาว เราเกี่ยวก้อยเดินไป บอกว่าจะไปให้สุดสาย....” ในถ้อยคำที่ว่า จะไปให้สุดสายบ่งบอกถึงความในใจลึกๆของคู่ที่หย่าร้างกัน และบ่งบอกถึงความกลัวที่จะเสียความรักไปอีกครั้ง  เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สะท้อนปัญหาสังคมในเรื่องของการหย่าร้าง  ไม่ใช่การสื่อในมุมมองของลูกผู้รับเคราะห์แต่เพียงอย่างเดียว  แต่ยังบอกถึงความรู้สึกของพ่อ-แม่ ที่หย่ากันด้วย  หนทางแก้ปัญหาอาจถูกคลี่คลายอยู่ในตอนจบของเรื่อง ซึ่งผู้เขียน ได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านในการคิดวิเคราะห์เอง
         1.2.2   เพื่อศึกษาวิธีการออกแบบนิยายภาพ
         การเขียนนิยายภาพ มีขั้นตอนดังนี้
   (1)  ลงเส้นดินสอ (Penciling) ขั้นตอนนี้ไม่ใช่การร่าง แต่เป็นการวาดจริงโดยมีการกำหนดเส้นและน้ำหนักที่ชัดเจนแล้ว  ควรวารให้ลายละเอียด และ สะอาดที่สุด  นักเขียนนิยายภาพมักมีดินสอสองแบบไว้ใช้คือดินสอเนื้อแข็ง (ตระกูล H ขึ้นไป) และดินสอเนื้ออ่อน (ตระกูล B ขึ้นไป) โดยเนื้ออ่อนจะให้เส้นที่เข้มและดำกว่า แต่แบบเนื้อแข็งแม้จะอ่อนกว่า แต่ก็สามารถยึดกระดาษได้ดีกว่า คือจะลบยากกว่า แบบอ่อน นักเขียนจึงใช้สำหรับร่างภาพ ส่วนเส้นจริงจะใช้ดินสอไส้อ่อนเพราะลบแก้ไขได้ง่าย
     (2)  ลงหมึก (Inking)  เส้นดินสอนั้นไม่ถูกใช้ในการพิมพ์  เพราะเครื่องสแกนของโรงพิมพ์หนังสือการ์ตูนจะรับเฉพาะน้ำหนักดำสุดเท่านั้น  ขั้นตอนนี้รวมการตัดเส้นเข้าไปด้วย และยังต้องกำหนดน้ำหนักดำสุดเพื่อกำหนดบรรยากาศของภาพอีกด้วย  ในการลงหมึก  นักเขียนฝั่งตะวันตกแนะนำให้ใช้ พู่กันขนเซเบิ้ลเบอร์ 3 จะดีที่สุด เพราะจะให้เส้นที่พริ้วไว้ได้อารมณ์และน้ำหนักในเส้น  และยังใช้ลงหมึกในพื้นที่กว้างๆได้อีกด้วย  ส่วนฝั่งตะวันออกนิยมใช้ปากกา “จีเพ็น” ซึ่งพัฒนามาจากปากกาแบบคอแร้ง ที่สามารถกำหนดน้ำหนักเส้นได้จากแรงกด
พู่กันขนเซเบิ้ล เป็นพู่กันที่ดีที่สุดในการวาดการ์ตูน

       (3)  ลงสี (Coloring)  ลงสีแต่เดิมจะใช้ระบบการพิมพ์แบบ 4 สี หรือ หรือการสกรีน  ผู้ทำแม่พิมพ์สีจะต้องวาดขอบเขตของสีๆหนึ่งด้วยนำหนักดำจนได้แม่พิมพ์ 3 แม่พิมพ์ และทำการพิมพ์ไปบนงานหลายรอบเพื่อให้ได้สีตามต้องการ  แต่ในปัจจุบันได้ลดขั้นตอนของคนวาดลงไป เพราะสามารถลงสีด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถกำหนดน้ำหนักต่างๆ ได้อีกด้วย
    (4)  ใส่ข้อความ (Letering) ข้อความที่แสดงเนื้อเรื่องมีสองแบบคือข้อความอธิบายโดยผู้ประพันธ์ที่บรรยายเหตุการณ์ต่างๆ เรียกว่า “Caption” และคำพูดของตัวละครจะถูกจัดอยู่ในบอลลูนคำพูดเรียกว่า “Dialogue balloon”
         1.2.3   เพื่อออกแบบนิยายภาพเรื่อง เจ้าหงิญ ตอน สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ
         วิธีการออกแบบนิยายภาพที่ผู้ศึกษาใช้ ปฏิบัติตามหลักของมืออาชีพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  แม้จะมีการดัดแปลงรูปแบบการเขียนนิยายภาพ(Illustrated Tale or Graphic Novel) ซึ่งปกติจะใช้การวาดลายเส้นแบบเหมือนจริง เป็นการวาดแบบมังงะ (Manga) เพื่อประหยัดเวลา  แต่ก็ยังมีการใช้พู่กันในการวาดตามหลักการวาดแบบเดิมซึ่งใช้กันมา  เพื่อศึกษาวิธีคิดและหนทางที่เป็นไปได้ต่อไป
การวาดภาพโดยการตีความจากบท

            สิ่งที่ผู้ศึกษาได้เพิ่มขั้นตอนนอกเหนือจากการศึกษาเข้ามาคือขั้นตอนการแปลงบท  ซึ่งมีความจำเป็น แต่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย  โดยขั้นตอนนี้สามารถประหยัดเวลาในการร่างและการตีความเนื้อเรื่องไปได้เป็นอย่างมาก  จากนั้นมาถึงขั้นตอนการวาดด้วยดินสอ ผู้ศึกษาสามารถเขียนโน๊ตย่อไว้ในช่องที่จะวาด(Panel) ได้เลยเพื่อให้ง่ายต่อการตีความเป็นรูปภาพ เมื่อวาดจนครบแล้ว นำมาสแกนลงในคอมพิวเตอร์ เพื่อลงสีและใส่ข้อความต่างๆ ขั้นตอนนี้สามารถทำไปได้พร้อมๆกัน คือ ลงรูปและข้อความด้วยโปรแกรม Adobe Indesign และในขณะเดียวกันก็แยกไปทำงานด้านลงสี  เมื่อลงสีเสร็จสิ้น โปรแกรม Adobe Indesign สามารถ อัปเดตลิงก์จากภาพต้นฉบับเดิมเป็นภาพที่ลงสีสำเร็จได้
ต้นฉบับลงหมึก
งานสำเร็จ